Talk to DJ
listen live

NEXT SONG
PREV SONG

ความพิถีพิถันในการคัดเลือกนักแสดงญี่ปุ่น

Jan 19, 2015 | ดู 5,304 ครั้ง

ความพิถีพิถันในการคัดเลือกนักแสดงญี่ปุ่น

ใครที่เคยดูละครญี่ปุ่น จะรู้สึกว่าทำไมยิ่งดูแล้วยิ่งรู้สึกอิน บทแบบนี้ถ้าไม่ได้คนนี้เล่นคงไม่สนุกขนาดนี้ แล้วทำไมนักแสดงญี่ปุ่นหน้าตาไม่ได้สวยหรือหล่อเป๊ะกันทุกคน ทำไมถึงได้รับเลือกมาเป็นนักแสดง แต่รู้ไหมคะว่ากว่าจะได้นักแสดงภาพยนตร์หรือละครญี่ปุ่นแต่ละเรื่องเนี่ย พิถีพิถันกว่าที่คิด สัปดาห์นี้จะมาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการคัดเลือกนักแสดงญี่ปุ่นค่ะว่าจะเป็นยังไงกันบ้าง ! 

1. นางเอก พระเอก ไม่ได้เป็นง่ายๆ นะจ๊ะ

สำหรับวงการละครญี่ปุ่นแล้ว แม้ว่าจะสวยหล่อแค่ไหน หรือเคยโลดแล่นในวงการบันเทิงจนเป็นที่รู้จักมาแล้วพอสมควร ก็ใช่ว่าจะได้ขึ้นแท่นไปเป็นนางเอก พระเอกกันได้ง่ายๆ นะคะ คนที่จะมาเป็นนักแสดงต้องผ่านงานระดับเบาๆ ขั้นต้น เพื่อสะสมประสบการณ์เสียก่อน อย่างเช่น สาวอัตจัง อดีตสมาชิก AKB48 ค่ะ



แม้ว่าจะมีชื่อเสียงโด่งดัง ได้รับความนิยมมากมาย ก็ใช่ว่าพอเธอมาแสดงละครจะได้ขึ้นรับบทนางเอกเลย  เธอก็เริ่มต้นจากบทตัวประกอบก่อน ที่ยังไม่ถึงขั้นเป็นนักแสดงนำของเรื่อง แม้แต่เรื่อง  “Saikou no Jinsei no Owarikata” ผลงานละครช่วงหลังๆ ของเธอ เรื่องนี้เธอได้รับบทเด่นก็จริง แต่ก็ยังไม่ใช่นางเอกค่ะ อาจจะขึ้นอยู่กับคาแร็กเตอร์ของตัวละครที่ต้องเลือกให้เหมาะสมกับวัยและบุคลิกของอัตจังด้วย 



หรือนักแสดงฝ่ายชายอย่าง “Oguri Shun” นักแสดงชายมากฝีมือของญี่ปุ่น ทุกวันนี้จะเห็นเขาในบทนักแสดงนำหรือพระเอกอยู่แทบทุกเรื่อง แต่สำหรับละครเรื่องแรกๆ ของเขานั้น ชุนเป็นเพียงนักแสดงประกอบตัวเล็กๆ บทบาทไม่ได้โดดเด่นมากเท่าไรนัก อย่างเช่นเรื่องนี้ค่ะ “GTO”  ชุนเคยฝากผลงานการแสดงที่เรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ในตอนนั้นชุนรับบทเป็น  “Yoshikawa Noboru” เด็กที่ชอบถูกเพื่อนในห้องกลั่นแกล้งค่ะ กว่าจะไปเป็นแก๊งเด็กแกร่งจอมซ่าใน “Gokusen” ก็เคยเป็นเด็กที่อ่อนแอมาก่อนนะ!


ชุนสมัยเอ๊าะๆ เด็กหนุ่มด้านล่างมุมซ้ายค่ะ


2. การแคสติ้งเข้มข้นสุดๆ

เขาว่ากันว่าการแคสติ้งในวงการละครญี่ปุ่นค่อนข้างเข้มข้นเลยทีเดียวค่ะ อย่างเช่น การคัดเลือกนักแสดงในละครช่วงเช้าของญี่ปุ่น ถ้าเป็นนักแสดงหน้าใหม่ หรือหน้าไม่ใหม่ แต่เพิ่งอยู่ในวงการบันเทิงได้ไม่นานก็ต้องมาแคสติ้งกันก่อนที่จะก้าวขึ้นสู่แท่นนักแสดงนำ จะแค่หน้าสวยหน้าหล่อไม่ได้ แต่ฝีมือการแสดงต้องผ่านมาตรฐานค่ะ (อาจจะต้องเกินกว่ามาตรฐานเสียด้วยซ้ำ)



อย่างเรื่อง “Amachan” กว่าจะได้นางเอกหน้าใสคนนี้มาได้ไม่ใช่เรื่องง่ายค่ะ เธอคนนี้ผ่านการคัดเลือก ต้องแข่งขันกับเหล่านักแสดงจำนวนเป็นพันคน!!! ซึ่งละครช่วงเช้าจะถือว่าเป็นบันไดที่จะพานักแสดงหน้าใหม่ก้าวขึ้นสู่ดาราที่มีชื่อเสียงโด่งดังแบบสุดๆ ในอนาคต การที่จะให้ใครสักคนขึ้นมาสู่จุดนี้ได้ ก็ต้องคัดเลือกให้เป๊ะๆ กันแบบสุดๆ สักหน่อย ก็คงเป็นเรื่องที่ดีค่ะ ถ้าใครต่อใครพูดกันแบบปากต่อปากว่า “คนนี้มาเป็นดาราได้ เพราะว่าเล่นเก่งนะ”

3. คัดให้เหมาะสมกับบทบาท

ใครที่เป็นแฟนละครญี่ปุ่นจะรู้สึกว่าเวลาที่เราดูละครเนี่ย ทำไมเราถึงรู้สึกอินไปกับตัวละครจัง อย่างพระเอกบางคนหน้าไม่หล่อเท่าไร แต่แอบเผลอหลงรักไปเสียแล้ว อาการที่ว่านี้ มันเกิดมาจากคาแร็กเตอร์ของตัวละครที่นักแสดงเล่นอย่างสมบทบาทค่ะ การที่เห็นนักแสดงละครเล่นได้อย่างเข้าถึงบทบาทขนาดนี้ นอกจากฝีมือการแสดงของนักแสดงแล้ว มันก็มาจากการคัดเลือกของผู้กำกับหรือผู้จัดด้วยค่ะ บทของตัวละครเป็นแบบไหน พวกเขาจะพยายามไปหาคนที่ใกล้เคียงมาเล่น เช่น ภาพยนตร์เรื่อง “Kimi ni Todoke” เป็นเรื่องราวความรักสดใสกุ๊กกิ๊กของสาวหน้าตาธรรมดาคนหนึ่งกับหนุ่มสุดหล่อของโรงเรียน คนที่รับบทเป็นนางเอกเรื่องนี้ก็หน้าตาธรรมดาจริงๆ ค่ะ ซึ่งก็คือเธอคนนี้ “Mikako Tabe”



ไม่ใช่ว่าเธอไม่สวยนะคะ แต่ออกแนวเป็นผู้หญิงหน้าตาน่ารักธรรมดาๆ มากกว่า แล้วในเรื่องก็จะมีผู้หญิงที่สวยระดับดาวของโรงเรียน มาชอบพอกับพระเอกด้วยเหมือนกัน คนที่มาเล่นก็ให้ความรู้สึกที่ว่าเป็นดาวโรงเรียนจริงๆ คนที่มารับบทนี้ก็คือ “Mirei Kiritani” ค่ะ



พอมาดูแล้วมันให้ความรู้สึกว่านางเอกเป็นผู้หญิงธรรมดาจริงๆ ไม่ใช่ว่าธรรมดาเพราะไปแต่งให้ดูธรรมดา แต่เป็นความธรรมดาที่มาจากนักแสดงจริงๆ ค่ะ ละครและภาพยนตร์ญี่ปุ่นทำให้เราได้เห็นว่าบางทีนางเอกไม่จำเป็นต้องมีภาพลักษณ์ที่เป็นคนสวยเป๊ะ คนธรรมดาเดินดิน แต่จิตใจดีก็สามารถเป็นนางเอกได้ ซึ่งมันก็ตรงกับชีวิตจริงของคนบางคนค่ะ ที่ไม่ได้ต้องการนางฟ้ามาเป็นคู่ครอง ขอแค่มนุษย์ธรรมดาที่เข้าอกเข้าใจกัน อยู่ด้วยกันแล้วมีความสุข

หรือจะเป็นเรื่อง “Nodame Cantabile” ขอบอกเลยว่านอกจากฝีมือการแสดงของ “จูริ อุเอโนะ” แล้ว ยังพ่วงมาด้วยความสามารถพิเศษที่เหมาะกับบทนี้ด้วยก็คือ สาวจูริเล่นเปียโนเป็นค่ะ!

ส่วนใหญ่แล้วละครหรือภาพยนตร์มักจะคัดนักแสดงที่เข้ากับบทมากกว่าหน้าตา โอเคว่ามันต้องดูดีในระดับหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ฝีมือนักแสดงและความเหมาะสมค่ะ การที่ทำให้คนดูอินไปกับตัวละครไม่ใช่แค่การแสดงอย่างเดียว แต่รวมถึงบุคลิกของคนคนนั้นด้วย 

4. คัดให้เข้ากับวัย

เรื่องของวัยก็เป็นสิ่งสำคัญที่ละครญี่ปุ่นไม่มองข้ามค่ะ นักแสดงส่วนใหญ่จะได้รับบทที่ใกล้เคียงกับอายุจริงๆ ของตัวละครในเรื่อง ละครญี่ปุ่นก็จะมีตัวละครหลากหลายวัยค่ะ ทั้งเด็กประถม มัธยม มหาวิทยาลัย วัยทำงาน หรือรุ่นเดอะ ถ้าเป็นคนวัยทำงานก็จะเอานักแสดงที่อายุใกล้เคียงมาเล่น จะไม่ค่อยเอาเด็กอายุ 15-16 มารับบทนี้สักเท่าไร ให้โลดแล่นกับบทวัยไสไปก่อน ถ้าบทเป็นคนอายุ 30 กว่า นักแสดงก็จะอยู่ในวัยนี้ เช่น 



เรื่อง “Doctor X” บทได้บอกลักษณะของดร.มิจิโกะว่า เป็นผู้หญิงอายุ 37 ปี ซึ่ง “Yonekura Ryoko” คนที่รับบทเป็นดร.มิจิโกะ ก็อายุได้ 37 ปีพอดี ในขณะที่ละครเรื่องนี้ออนแอร์ค่ะ



หรือจะเป็นเรื่อง “Kyo wa Kaisha Yasumimasu” ความรักต่างวัย ระหว่างผู้หญิงที่อายุมากกว่ากับผู้ชายที่อายุน้อยกว่า ในเรื่องนางเอกจะอยู่ในวัย 29 กำลังย่างเข้าสู่วัย 30 “อายาเสะ ฮารุกะ” เป็นนักแสดงที่ได้รับบทนี้ค่ะ ซึ่งในชีวิตจริงของเธอในปี 2014 ก็อายุ 29 พอดี มีความใกล้เคียงค่ะ ส่วนเด็กหนุ่มที่มากุ๊กกิ๊กด้วยก็คือ “Fukushi Sota” มารับบทเป็นเด็กมหาวิทยาลัยที่มาฝึกงานบริษัทเดียวกันกับสาวอายาเสะ อายุจริงๆ ของเขาก็อยู่ในวัยนักศึกษาค่ะ ก็คือ 21 ปี 

อะไรจะเป๊ะเวอร์ขนาดนี้ล่ะคะเนี่ย แต่บางทีเรื่องวัยของนักแสดงก็อาจส่งผลต่อการแสดงได้เหมือนกัน เพราะคนแต่ละช่วงวัย ประสบการณ์ชีวิตจะเจอมาไม่เหมือนกัน ถ้าให้เด็กอายุ 16-18 เล่นบทสาวทำงานอายุ 20 ตอนปลายก็คงจะยากพอตัวค่ะ คนดูก็จะไม่ค่อยอินมากเท่าไร แม้จะตีบทแตก (แต่อีกแง่หนึ่งก็เหมือนเป็นการพิสูจน์ความสามารถของนักแสดงไปในตัว) แต่ถ้าให้วัยใกล้เคียงมาเล่น นักแสดงจะสามารถถ่ายออกอารมณ์ความรู้สึกได้ดีกว่า และคนดูจะรู้สึกว่ามันสมจริงแบบจริงๆ นะ

5. คัดให้เข้ากับกลิ่นไอและบรรยากาศ



คนญี่ปุ่นนี่เขาละเอียดสุดๆ ค่ะ ถึงกับต้องคัดนักแสดงให้เข้ากับกลิ่นไอและบรรยากาศของเรื่อง อย่างเช่น เรื่อง“Always” ภาพยนตร์ญี่ปุ่นคุณภาพที่สร้างความประทับใจให้กับคนดูมาแล้วมากมาย นอกจากพล็อต บท ฉาก สถานที่ แล้ว นักแสดงก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ให้ความสำคัญค่ะ เพื่อให้ได้กลิ่นไอของยุคโชวะ ซึ่งเป็นยุคในภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็เลยต้องคัดนักแสดงผู้ใหญ่ที่เคยมีชื่อเสียงโด่งดังจากภาพยนตร์ในยุคโชวะจริงๆ ยกเว้น“โคยุกิ คะโต” ผู้ที่รับบทเป็น “ฮิโระมิ อิชิซะกิ” เท่านั้นที่ไม่ใช่นักแสดงในยุคโชวะ เพราะต้องการให้ตัวละครตัวนี้มีความแตกต่างจากตัวละครตัวอื่นๆ ให้ดูเป็นคนที่แปลกไปจากคนทั่วไปในยุคโชวะ... ใครที่เคยดูภาพยนตร์เรื่องนี้ ลองนึกย้อนกลับไปอีกครั้งค่ะ เป็นไงคะ ได้กลิ่นยุคของโชวะกันบ้างไหมเอ่ย 

นี่ก็เป็นความพิถีพิถันในการคัดเลือกนักแสดงญี่ปุ่นแบบคร่าวๆ ค่ะ นอกจากที่เล่าไปแล้ว ยังมีปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่มีผลต่อนักแสดงในงานแสดงต่อๆ ไปค่ะ ซึ่งก็คือ “เรตติ้ง” อันนี้เฉพาะในวงการละครญี่ปุ่นนะคะ จะเห็นว่าเรตติ้งละครญี่ปุ่นเขาจะแข่งขันกันดุเดือดมาก เพราะมันเป็นสิ่งที่พอจะการันตีถึงฝีมือของนักแสดงและความนิยมของนักแสดงในเรื่องนั้นๆ ได้ โดยเรตติ้งนี้ มักจะใช้ในละครแนวรัก ที่จำเป็นต้องใช้นักแสดง หน้าตาดี เป็นที่นิยม และเล่นละครได้เยี่ยม มารับบทนำค่ะ

บางทีมีแค่หน้าตาเป็นใบเบิกทางอย่างเดียวก็คงไม่พอค่ะ ต้องมีฝีมือที่ดีด้วย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เราเห็นนักแสดงญี่ปุ่นบางเรื่องไม่ได้มีหน้าตาที่เป๊ะเวอร์กันทุก แต่ถ้าพูดถึงฝีมือการแสดงเนี่ย ขอบอกว่าเป๊ะเวอร์กันทุกคนค่า...



ที่มา  ChaMaNow www.marumura.com





:: Other hot news